วันที่ 7 สิงหาคม 2567..เวลา 13.00 น. ณ ลานหน้า ศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายโอภาส หนูชิต ประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยประธานองค์กร เเละเกษตรกรสมาชิก ที่กำลังเดือดร้อนเรื่องหนี้สินกว่า 70 คน ร่วมกันชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน ในการจัดการหนี้สินอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม
ด้วยมติคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการหนี้เกษตรกรสมาชิกจังหวัดพัทลุง..กรณีสถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์ ในกรอบงบประมาณเพียง 3 แสนบาท จากงบประมาณ 120 ล้านบาท เเต่เนื่องจากมีเกษตรกรสมาชิกที่เป็นหนี้ชั้นบังคับคดีขายทอดตลาด ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ยินยอมงดการขายทอดตลาด เเละหนี้ในชั้นพิพากษา จำนวนมาก จึงเกิดการชุมชุนเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนขึ้นดังกล่าว..เพื่อให้มีการจัดการหนี้อย่างเป็นธรรม ไม่เหลื่อมล้ำและทั่วถึง ตามที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้สั่งการ
สาระสำคัญของหนังสือ…
จังหวัดพัทลุง ถือ เป็นเมืองแห่งวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนและมีเกษตรกรจำนวนมาก ที่เดือดร้อนจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม..เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
จำนวน 790 องค์กร และมีสมาชิกกว่า 80,000 ราย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้จำนวน 20,527 บัญชี รวมมูลหนี้กว่า 2,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิจัดการหนี้ กรณีสหกรณ์ จำนวน 39 ราย ที่เป็นหนี้เร่งด่วน รอการจัดการหนี้มูลหนี้ 47,293,240.28 บาท แต่พิจารณาข้อสั่งการของท่านรองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยไชย ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ..ที่ได้เน้นย้ำเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรทั้งประเทศว่า ต้องมีความเป็นธรรมและทั่วถึงนั้น ยิ่งทำให้เกษตรกรชาวจังหวัดพัทลุงมีข้อสังเกต และมีคำถามว่า ทำไม ? การจัดสรรงบประมาณจึงแตกต่างกับอีกหลายจังหวัด..และยังให้สงสัยอีกว่า..หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติและจัดสรรงบประมาณมีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับนโยบายหรือไม่
ผู้ว่าฯ พัทลุง (นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ) ได้มอบหมาย หัวหน้าสำนักงานจังหวัด (นายณรงค์ อ่อนอินทร์) ให้มารับหนังสือจากตัวแทนเกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ..เพื่อส่งต่อไปยังรองนายกรัฐมนตรี ท่านภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยมีข้อเรียกร้องให้พิจารณาดังนี้..
1. ขอให้รองนายกฯภูมิธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สั่งการให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ได้พิจารณาทบทวนกระบวนการจัดสรรงบประมาณ และให้ตรวจสอบขั้นตอน การพิจารณาอนุมัติ และการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรม ดังที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรจังหวัดพัทลุง
2. ขอให้ประสานความร่วมมือระดับนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการชะลอการดำเนินคดี การงดบังคับคดีขายทอดตลาด จากเจ้าหนี้โดยเฉพาะสถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร ก่อนที่จะได้รับการจัดการหนี้จากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรตามขั้นตอนต่อไป
นางสาวนิธิมา บินตำมะหงง หัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัด..พร้อมด้วยบุคลากรสำนักงานกองทุนฟื้นฟูเเละพัฒนาเกษตรกร ได้มาให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกร และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุง..รับทราบข้อร้องเรียนของพี่น้องเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จังหวัดพัทลุง โดยจะนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเสนอส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป.